พูดคุยกับรัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดีในทีมขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โครงการซึ่งค้นพบหลักฐานร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์จากอดีตอันไกลโพ้น พร้อมไขปริศนา “คนไท(ย)มาจากไหน?”
ในห้องทำงานที่มีกล่องกระดาษเรียงรายภายในศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พร้อมกับภาพแผนผังการฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์บนผนัง และภาพเหมือนของผู้หญิงจากเมื่อหนึ่งหมื่นสามพันปีที่แล้วแอบมองเราอยู่บนหลังตู้ซึ่งเรารอคอยที่จะได้ทำความรู้จัก เราพบกับรัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีบนพื้นที่สูงและหนึ่งในนักวิจัยที่นำทีมขุดค้นในโครงการวิจัยโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการซึ่งค้นพบแหล่งโบราณคดีกว่าร้อยแห่งจากหลายยุคสมัย พร้อมกับหลักฐานซึ่งบ่งบอกร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์จากอดีตอันไกลโพ้นในดินแดนที่ปัจจุบันเราเรียกว่าอำเภอปางมะผ้า
งานของนักโบราณคดีเหมือนนักสืบที่ขุดค้นอดีตและนำความรู้กลับมาใช้เพื่อทำให้เราเข้าใจต้นธารของวัฒนธรรมและปัจจุบันที่เราอยู่มากขึ้น วันนี้ประชาไทจึงมาชวนรัศมีคุยเรื่องพิธีกรรมหลังความตายของมนุษย์ยุคโบราณ การทำงานของนักโบราณคดีและการมีส่วนร่วมของชุมชน ไปจนถึงตามหาคำตอบของคำถามที่ว่า “คนไท(ย)มาจากไหน”
เรื่องเล่าจากโลงศพ
ก่อนที่จะมาทำโครงการขุดค้นที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน รัศมีเริ่มต้นจากความสนใจในเรื่องของป่าเขตร้อนและการปรับตัวของมนุษย์ยุคโบราณ เมื่อครั้งทำงานในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ก่อนจะได้มาสำรวจที่แม่ฮ่องสอนและทำโครงการขุดค้นที่นั่นเรื่อยมา
“ที่เลือกปางมะผ้าเพราะว่าตรงปางมะผ้ามันเป็นพื้นที่ที่เป็นภูเขา การคมนาคมลำบาก เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมก็จะช้า ตรงนี้เลยกลายเป็นเหมือนห้องปฏิบัติการทางธรรมชาติที่เรารู้สึกว่าตรงนี้เหมาะที่จะศึกษา เพราะการเปลี่ยนแปลงมันน้อยและเราสามารถที่จะลองเปรียบเทียบกับข้อมูลในปัจจุบันได้” รัศมีเล่าถึงเหตุผลที่เลือกขุดค้นในพื้นที่ปางมะผ้า
“อีกอันหนึ่งคือเราสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมโบราณโดยเฉพาะในพื้นที่ภายในแผ่นดิน คือเขตป่าเขตร้อน คนจะบอกว่ามันเหมือนกันไปหมด แล้วคนก็ไม่ได้ศึกษาว่าจริง ๆ แล้วมันมีความหลากหลายเหมือนกัน ป่าเขตร้อนที่เป็นป่าดงดิบอย่างภาคใต้หรืออินโดนีเซีย มาเลเซียก็จะร้อนชื้น ฝนแปดเดือน ในขณะที่ป่าบนแผ่นดินใหญ่จะเป็นป่าร้อนชื้นที่เป็นป่าฤดูกาล ป่ามรสุม เพราะฉะนั้นทั้งสองแบบจะส่งผลกับการปรับตัวของมนุษย์เหมือนกัน เราก็อยากดูว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ภายในแผ่นดิน การปรับตัวเป็นยังไงบ้าง
“บังเอิญโชคดีที่จริง ๆ ก่อนหน้านั้นทำงานที่เมืองกาญจน์ แล้วอาจารย์สิทธิพงษ์ ดิลกวานิช ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหิดลตอนนั้น ตอนนี้อาจารย์เกษียณแล้ว อาจารย์อยากทำการสำรวจถ้ำเพื่อดูว่ามันมีอะไรบ้าง เราก็เลยว่าเราอยากไปดูที่แม่ฮ่องสอน เพราะจากความสนใจในเรื่องป่าเขตร้อน เรื่องการปรับตัวของมนุษย์ ก็เลยไปศึกษา พอไปสำรวจถ้ำที่แม่ฮ่องสอนก็เจอแหล่งโบราณคดีเยอะแยะไปหมดเลย มีทั้งที่เป็นหลุมฝังศพ มีทั้งที่อยู่อาศัย มีหลายสมัย ก็เลยทำโครงการต่อที่ปางมะผ้า โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูง”
ที่แม่ฮ่องสอน รัศมีและสมาชิกทีมวิจัยพบแหล่งโบราณคดีทั้งหมด 104 แห่ง มีอายุตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมหินกะเทาะจนถึงวัฒนธรรมร่วมสมัยรัตนโกสินทร์ โดยที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการหาค่าอายุได้คือแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด ที่มีอายุกว่าสามหมื่นปีและมีการอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงสามร้อยปีที่แล้ว
“ทีนี้ในการทำงานโบราณคดี ง่าย ๆ ก็คือว่าถ้าเราทำไปแล้ว เราสำรวจเฉย ๆ แล้วเราไม่มีการขุดค้น เราไม่มีลำดับเวลา เราได้แต่เปรียบเทียบ แต่เราไม่มีอายุที่แน่นอน ก็เลยขุดค้นแหล่งโบราณคดีจุดสำคัญสองแหล่งก่อนตอนแรก อันหนึ่งคือแหล่งโบราณคดีถ้ำลอด (แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน) ซึ่งก็เจอผู้หญิงที่เห็นหน้า ที่เราขึ้นรูป ที่นั่นอายุสามหมื่นกว่าปี อีกแหล่งคือแหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่ (ในหมู่บ้านบ้านไร่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน) เราก็ได้คนที่อายุเก้าพันปี คือเราเจอโครงกระดูกของคนอายุหมื่นสาม แต่การอยู่อาศัยตั้งแต่สามหมื่นปี แล้วก็โครงกระดูกคนอายุเก้าพัน ซึ่งคนอยู่อาศัยตั้งหลายพันปี เพราะฉะนั้นเราได้ช่วงที่คล้ายกับว่าต่อเนื่องกัน”
โครงกระดูกผู้หญิงจากถ้ำลอดที่รัศมีพูดถึงก็คือเจ้าของใบหน้าในภาพเหมือนที่แอบมองเราอยู่บนหลังตู้มาตลอดการสัมภาษณ์นี่เอง โดยโครงกระดูกนี้มีอายุหนึ่งหมื่นสามพันปี และถึงแม้ว่าส่วนกระโหลกจะแตกเป็นชิ้น ๆ แต่ก็เรียกว่ายังอยู่ในสภาพดีพอจะทำไปสแกนแล้วสร้างรูปจำลองออกมาได้
ต่อมา รัศมีได้ร่วมงานกับซูซาน เฮย์ส นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยวอลลองกอง ประเทศออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการขึ้นรูปใบหน้าจากกะโหลกและเคยขึ้นรูปใบหน้า “มนุษย์ฮอบบิท” ที่อินโดนีเซียมาแล้ว โดยใช้ฐานข้อมูลที่เก็บข้อมูลของประชากรจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วโลกมาเปรียบเทียบ และใช้เทคนิคการจำลองใบหน้าจากกะโหลกมาเพื่อเติมกล้ามเนื้อและผิวหนังไปบนผิวกะโหลกจนได้ภาพวาดใบหน้าของผู้หญิงโบราณกาลอย่างที่เห็น นอกจากนี้ก็ยังมีรูปปั้นสามมิติจากฝีมือของปฏิมากรชาวไทย วัชระ ประยูรคำ ที่ปั้นขึ้นจากหัวกะโหลกเรซินที่ทำไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้หญิงจากถ้ำลอดคนนี้เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ใด เนื่องจากกาลเวลาได้พาให้สารพันธุกรรมที่จะใช้ตรวจพิสูจน์ได้สูญสลายไปจนหมดแล้ว แต่ในงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในวารสาร Antiquity ก็มีการสันนิษฐานว่าเธอน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เป็นบรรพบุรุษของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เอง
รูปปั้นสามมิติจำลองใบหน้าของกะโหลกที่พบในแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด ทางซ้ายคือภาพวาดจำลองใบหน้าโดยซูซาน เฮย์ส ส่วนทางขวาคือภาพชิ้นส่วนกะโหลกขณะที่ค้นพบ
กลับมาที่แม่ฮ่องสอนกันบ้าง รัศมีเล่าว่าระหว่างที่ทำงานในช่วงแรกนั้น ก็มีการค้นพบแหล่งโลงไม้ที่ฝังศพ ที่แหล่งโบราณคดีที่ปัจจุบันนี้เรียกกันว่าถ้ำโลงลงรัก
“ทั้งสองที่ก็เป็นที่ฝังศพ แต่ว่าเป็นที่ที่เก่า แต่ว่าอันนี้มันเป็นแหล่งฝังศพที่สมบูรณ์มาก ที่ถ้ำโลงลงรัก เขาก็บอกว่ามีการเจออันนี้ ให้เราไปสำรวจ” รัศมีเล่า
“พอเราไปสำรวจ โครงกระดูกเต็มไปหมดเลย ในที่อื่น ๆ ที่เราสำรวจมาที่เป็นที่ฝังศพกับโลงไม้ มันมักจะไม่ค่อยเจอโครงกระดูกที่อยู่ในโลงหรือเจอของที่อยู่ร่วมกัน นักโบราณคดีมันเหมือนกับนักนิติวิทยาศาสตร์ ถ้าของไม่ได้เจอคู่กัน เราพูดไม่ได้ว่าตกลงเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า เราต้องการเจออะไรที่มันแน่นอน เราก็เลยขุดค้นอีกที่ เป็นที่ที่สามคือถ้ำโลงลงรักอันนี้ที่เป็นที่ฝังศพ
“คือยี่สิบปีก่อนมันมีโลง แล้วกระดูกอยู่ข้างล่าง เวลาของมันไม่ได้อยู่ด้วยกันเราจะรู้ได้ไง เราไม่รู้ว่าคนถูกวางไว้บนพื้นหรือว่ายังไง หรือสมมติว่าถูกรื้อค้น หรือว่ามันกระจัดกระจาย แต่เราอนุมานได้ว่านี่เป็นโลงศพ แต่พอเราเจอคนอยู่ในโลงจริง ๆ แล้วมีอาหารเซ่น มีข้าวของอยู่ในโลง อย่างน้อยที่สุดเราพูดด้วยความมั่นใจว่าใช่”
จะว่าไปแล้ว รัศมีและสมาชิกทีมวิจัยก็คงเหมือนนักนิติวิทยาศาสตร์ที่ทำการ “สืบจากศพ” เพียงแต่ศพที่ว่าไม่ใช่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่เป็นคนที่มีชีวิตอยู่และตายไปเมื่อหลายพันปีก่อน แต่การขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่เป็นหลุมฝังศพก็ช่วยให้ได้รู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับชีวิตและชุมชนในพื้นที่อำเภอปางมะผ้าในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้เราเห็นรูปแบบของวัฒนธรรมที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน เช่นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
เรียกได้ว่าคนตายก็คงมีเรื่องจะเล่าให้คนเป็นฟังเยอะแยะมากมายเลยทีเดียว
เรื่องแรกก็คงเป็นเรื่องของการทำศพ สำหรับมนุษย์เรา เรื่องตายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่มีใครหนีความตายพ้น พิธีศพจึงเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ย้อนกลับไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
ถ้าเป็นสมัยปัจจุบัน เมื่อถึงเวลาก็คงจะเผาหรือฝังตามแต่ความเชื่อส่วนบุคคล บางท่านอาจจะเลือกบริจาคร่างกายเพื่อเป็นวิทยาทาน หรือท่านที่ไม่มีศาสนาก็อาจจะออกแบบพิธีศพให้เข้ากับความ(ไม่)เชื่อของท่าน แล้วมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ล่ะ ทำศพกันอย่างไร
โลงไม้ขนาดใหญ่วางบนคาน (ภาพจากหนังสือวัฒนธรรมโลงไม้ไทยในบริบทอาเซียน โดยรัศมี ชูทรงเดช)
ฟังแบบนี้แล้วก็ทำให้นึกถึงประเพณีที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เช่นการเก็บกระดูกหลังจากเผาศพผู้เสียชีวิต นำไปบรรจุในโกศหรือในกำแพงวัด ซึ่งรัศมีก็เล่าว่าในเวียดนามก็ยังมีประเพณีการฝังศพครั้งที่สองอยู่เช่นกัน
“มันมีคอนเซ็ปต์อะไรหลายอย่างนะที่มันคล้ายกับในปัจจุบัน ที่มันยังดำรงอยู่” รัศมีกล่าว “อย่างการขุดไม้ด้วยท่อนไม้ท่อนเดียวซึ่งเป็นไม้สัก มันก็เหมือนกับคนจีน เขาก็ใช้เป็นท่อน ปัจจุบันถึงแม้ว่ามันจะตีเป็นไม้ แต่รูปทรงอันนี้มันเหมือนท่อนซุงมั้ย โลงจำปาอย่างนี้ ทำจากไม้จำปา แต่ว่าในอดีต แถวนี้มันก็จะทำจากไม้สัก ไม้จำปาก็มี ไม้ก่อก็มี ไม้สนก็มี แต่ไม้หลักก็จะเป็นไม้สัก ก็จะเป็นเหมือนกับท่อนซุง
“การฝังศพครั้งที่สองแล้วก็การใส่ในภาชนะแบบนี้ในเวียดนามมันก็ยังมีอยู่ ทำกล่องแบบนี้ นิดเดียว เป็นดินเผาเนื้อภาชนะแกร่ง ฝังเสร็จแล้วเขาก็เก็บกระดูก มันก็ยังปรากฏอยู่”
ไม่เพียงแต่โลงและโครงกระดูกในโลงเท่านั้นที่มีเรื่องเล่า ของที่พบในโลงก็มีเรื่องเล่าเช่นกัน
ในแหล่งโบราณคดีถ้ำโลงลงรัก นอกจากจะมีการพบโลงไม้แล้ว ในโลงไม้ก็ยังมีการพบสิ่งของใส่อยู่กับร่างผู้ตาย นอกจากนี้ก็ยังมีหลักฐานที่บอกว่าน่าจะมีการใส่ของเซ่นไหว้ลงไปในโลงด้วย โดยมีการพบทั้งหมู ไก่ แม้กระทั่งสุนัข ซึ่งอย่างน้อย ๆ ก็มีสองอย่างแรกที่เป็นเครื่องเซ่นที่เรายังคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบัน
“ก็เหมือนกับเวลาเราไปงาน เราเห็นว่าเวลางานศพ คนก็จะใส่อาหารถ้วยเล็ก ๆ แล้วก็เคาะบอก ลักษณะแบบเดียวกันก็คือเมื่อมีการฝังศพแล้วเขาทำพิธีกรรมตรงนั้น เขาก็จะเอาพวกของเซ่น ความหมายก็คือให้กับผู้ตาย สำหรับไปกินในโลกหน้าหรืออะไรแบบนี้ แสดงว่าพิธีกรรมเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แล้วจริง ๆ มันไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ในพื้นที่อื่น ๆ ในโลกมันก็มีความเชื่อแบบนี้ ที่เป็นความเชื่อสากลที่มนุษย์เชื่อว่าเวลาคนตายแล้วจะต้องมีของเซ่นที่เป็นอาหาร บางครั้งก็จะมีของเซ่นที่เป็นวัตถุอื่น ๆ ที่ใส่เข้าไปด้วย อาจจะเป็นของใช้ส่วนตัวของคน ที่มักจะใส่เข้าไปด้วย”
“ถ้าเป็นของมันบอกได้เฉพาะความเชื่อ แล้วก็ของเหล่านั้นว่าการผลิตในชุมชนเหล่านี้เขาใช้อะไรบ้าง ที่เป็นของใช้ในชุมชน เช่นเขามีขวานเหล็กลักษณะคล้ายสิ่ว มีกำไลที่เป็นเหล็ก มีสำริด หมายถึงว่าคนเขาก็รักสวยรักงาม แล้วก็มีเครื่องทอผ้า ก็แสดงว่าชุมชนนี้ใส่เสื้อผ้าและทอผ้า เราวิเคราะห์ออกมาพบว่าเป็นผ้าป่านกัญชง คือมีการทอผ้า ใส่เสื้อผ้า มีการทำเครื่องจักสาน มีการใช้รัก มีภาชนะที่เป็นรัก แสดงว่าภูมิปัญญาของคนกลุ่มนี้ เขารู้จักเรื่องของป่าไม้ รู้จักใช้การคัดสรรทรัพยากรจากป่า เช่นไม้สัก เราก็รู้ว่ากลุ่มคนที่อยู่บนภูเขากลุ่มนี้ ลักษณะทางวัฒนธรรมเขาเป็นแบบนี้”
ไม่เพียงเท่านั้น โบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบยังบอกได้อีกด้วยว่าชุมชนที่อยู่บนภูเขาห่างไกลอย่างพื้นที่ปางมะผ้าในปัจจุบันไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่นภายนอก ซึ่งเห็นได้จากสิ่งของที่พบ เช่นลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็ก หรือหอยเบี้ย
“ลูกปัดแก้วเนี่ย นักโบราณคดีหลายคนก็เชื่อว่ามีที่มามาจากอินเดีย แต่อีกที่หนึ่งที่เราพบว่ามีการผลิตก็คือแถวภาคใต้ของประเทศไทย ที่คลองท่อม” รัศมีอธิบาย “เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุด มันบอกได้ว่ามันมีการติดต่อกับคนอื่นที่มีลูกปัด มีเหล็ก เพราะเรายังไม่เจอแหล่งผลิตเหล็กในพื้นที่ตรงนั้น แปลว่าเขาต้องแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก
“แล้วก็มีหอยเบี้ย หอยเบี้ยเนี่ย นักโบราณคดีบางคนก็เชื่อว่าเป็นเครื่องประดับ เช่นอาจารย์สุรพล นาถะพินธุ นักก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย รศ. ดร. ธนิก เลิศชาญฤทธ์ เขาก็คิดว่าอันนี้เป็นลูกปัด แต่บางคน เมื่อเปรียบเทียบกับทางจีนตอนใต้ ก็บอกว่าอันนี้มันเหมือนเงิน เหมือนเป็นหอยเบี้ยที่ใช้เป็นตัวเงิน ซึ่งถูกใช้มาเรื่อย ๆ ในสมัยล้านนา สมัยหลังต่อมา อย่างนี้เป็นต้น
“เพราะฉะนั้นเราก็เลยเห็นภาพว่าชุมชนกลุ่มนี้ ไม่ใช่อยู่โดยลำพังหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยวในพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง แต่เขาติดต่อกับกลุ่มคนภายนอกด้วย แล้วการติดต่อจากกลุ่มคนภายนอกเนี่ย ความเป็นไปได้ที่ตัวเองสันนิษฐานก็คือว่าพวกนี้จะรู้เรื่องของป่า อย่างถ้ำที่ชื่อโลงลงรัก หรือถ้ำโลงไม้ทั้งหลาย มันมีการเคลือบรักอยู่บนโลง เพราะฉะนั้นการเคลือบรักบนโลงก็แสดงว่าเทคโนโลยีการทำรักและการรู้จักเลือกยางรัก มันก็น่าจะเป็นอะไรที่สำคัญ คือเราพบว่ารักเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่มาจากป่าที่เขาใช้ในการแลกเปลี่ยนด้วย เพราะฉะนั้นพวกนี้อาจจะมีสินค้าจากป่าที่ไปแลกกับชุมชนอื่นข้างนอก”
รัศมีบอกว่าเราไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเจ้าของโลงไม้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ปางมะผ้าในปัจจุบันหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตาม เพราะว่าวัฒนธรรมโลงไม้ไม่ได้พบแค่เพียงในดินแดนประเทศไทย แต่ยังพบในจีนตอนใต้ ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ในเวียดนาม ไปจนถึงในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งการศึกษาลักษณะความเชื่อที่คล้ายกันก็อาจจะทำให้เรามองเห็นสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในดินแดนนี้ที่มีมาแต่โบราณ
“ถ้าเราจะเปรียบเทียบลักษณะของวัฒนธรรม มันก็จะมีลักษณะของวัฒนธรรมโลงไม้” รัศมีกล่าว “มันก็จะมีลักษณะคล้ายกับหลายที่ที่อยู่ที่จีนตอนใต้ ที่กว่างซี ที่เสฉวน ซึ่งที่จีนเขาจะเรียกพวกนี้ว่าพวกป่าเถื่อนร้อยเผ่า ซึ่งก็รวมถึงคนไท คนม้ง คนกะเหรี่ยง กลุ่มพี่น้องมูเซอ พวกที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายแหล่ พวกนี้อยู่ในจีนตอนใต้ทั้งหมดแล้วก็น่าจะค่อย ๆ เคลื่อนย้ายลงมา ไปอยู่ในลาว ในเวียดนาม ในพม่า ในไทย เพราะฉะนั้นมันมีความสัมพันธ์กันแบบที่น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่อดีต
“มันเป็นเรื่องความเชื่อไง ความเชื่อที่อย่างน้อยที่สุดมันก็อาจจะมีการประยุกต์ไปบ้างตามพื้นที่ เท่าที่เขาจะหาวัสดุได้ แต่แนวคิดอย่างเรื่องฮวงจุ้ย การเซ่นของ ของที่อยู่ในโลงก็มีหมู มีไก่ บางทีก็มีสุนัข แล้วหมู่ไก่นี่ก็เป็นของเซ่นที่เรายังเห็นอยู่ในปัจจุบัน คือเราใช้อะไรบางอย่างที่มันเป็นกุญแจในการเปรียบเทียบ ว่ามันยังปรากฏอยู่
“อย่างการใช้รักเคลือบโลง ในแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมเดียนซึ่งอยู่ในยูนนานก็มีการเคลือบรัก ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นรัก ลูกปัดแก้ว มีหลายอย่างที่คล้ายกัน เราก็จะเปรียบเทียบแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วถ้าจะให้มันยืนยันชัด ๆ บางทีเราอาจจะต้องไปศึกษาในประเทศนั้นด้วย
“โลงไม้นี่มันจะปรากฏอยู่ในรัฐฉานปัจจุบัน ที่คล้ายกับเราเลย แล้วก็ในเวียดนามตอนกลาง พอหลังจากที่เรานำเสนอข้อมูลของเรา เวลาเอาไปพูดที่ไหน ประเทศเพื่อนบ้านเราเขาก็เริ่มสนใจในแง่ของการศึกษาค้นคว้า แล้วเขาก็ไปสำรวจ แต่เขายังไม่ได้ทำงานละเอียดเท่าเรา พอเขาเอารูปมาแลกเปลี่ยนกัน เราก็บอกว่าเหมือนกันเลยเพราะเราดูรูปแบบของหัวโลง โลง บางทีจะมีความคล้ายกัน การวาง ตำแหน่งที่ตั้งอะไรแบบนี้จะคล้ายกัน
“อันนี้เรารู้เฉพาะมิติในเรื่องของการทำศพ แต่พื้นที่แม่ฮ่องสอนและแนวเทือกเขาตะวันตกก็จะเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ทำจากโลงไม้ แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขาจะฝังในหม้อ เขาจะเอากระดูกใส่หม้อ คือไปฝังมาจากที่อื่นแล้วเก็บกระดูกใส่หม้อ เขมรก็จะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน จริง ๆ คอนเซ็ปต์หลัก ๆ มันคล้ายกัน ก็คือการเอากระดูกใส่ในภาชนะบรรจุ ของที่ปางมะผ้าจะบรรจุในโลงไม้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบรรจุในหม้อดิน ในเขมรสมัยหลังเมืองพระนคร หลังนครวัดล่มไปแล้ว มันก็จะมีการเอากระดูกใส่ในหม้อที่คล้ายกับไหสี่หูที่เราเจอในสุโขทัยแล้วไว้ตามหน้าผา ตรงไหนที่มีเผิงหน้าผา ที่เป็นเขาสูง ๆ เขาก็จะวางไว้เรียงกัน แต่เขาก็ไม่ได้วิเคราะห์ละเอียดนะ ไม่รู้ว่าตอนนี้มีใครวิเคราะห์ละเอียดหรือทำอะไรไปหรือยังว่าพวกนี้เป็นใคร ก็จะมีคอนเซ็ปต์แบบนี้ที่มันยังปรากฏอยู่
“จริง ๆ การฝังศพครั้งที่สองแล้วก็การใส่ในภาชนะแบบนี้ในเวียดนามมันก็ยังมีอยู่ ทำกล่องแบบนี้ นิดเดียว เป็นดินเผาเนื้อภาชนะแกร่ง ฝังเสร็จแล้วเขาก็เก็บกระดูก มันก็ยังปรากฏอยู่
“เรารู้มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของคน การฝังศพ การเซ่นไหว้อะไรแบบนี้ เราก็เลยต่อจิกซอว์เป็นไทม์ไลน์ได้ จริง ๆ เราทำถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเลยนะ ตอนที่เราทำงาน ทำหลายอำเภอด้วย แต่ highlight ที่กลายเป็นที่รู้จักจะอยู่ในช่วงเวลานี้ ภาพที่ออกมามันก็เหมือนกับพูดถึงเรื่องของการฝังศพ แต่จริง ๆ การทำงานของเรา เราต้องการรู้ว่าในพื้นที่หนึ่ง ในอดีตมันมีความเก่าแก่ที่ไหนแล้วมันมีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมไหม ที่คนอยู่อย่างต่อเนื่องหรือเปล่าหรือเป็นคนที่มาใหม่ แล้วอายุสมัยที่คนอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นมันมีกี่สมัย ซึ่งเราพบว่ามันมีความต่อเนื่องจนถึงรัตนโกสินทร์ถึงสมัยล้านนา ขณะที่เรามีภาคกลางหรือภาคอื่น ๆ มีสมัยอยุธยาอะไรแบบนี้ ที่นั่นก็จะมีคนอยู่ต่อ แล้วก็มีต้นรัตนโกสินทร์ก็มีคนอยู่แถวนั้น สมัยสงครามโลกครั้งที่สองก็มี แล้วเราก็ทำต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบันที่กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์เข้ามาอยู่ เพราะเราต้องการดูและอธิบาย”
ภายในคูหา A1 ถ้ำโลงลงรัก (ภาพจากหนังสือวัฒนธรรมโลงไม้ไทยในบริบทอาเซียน โดยรัศมี ชูทรงเดช)
“เวลาทำงานในตอนหลัง เราก็จะรู้สึกว่าเราอยากจะอธิบายเพื่อให้คนเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการเข้ามาอยู่ของคนกลุ่มใหม่ ที่เขาเข้ามาอยู่ใหม่ เขาเป็นคนกลุ่มใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับหลักฐานทางโบราณคดีหรือไม่ หรือว่าเขาเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเพื่อเราจะได้เข้าใจ แล้วก็หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยอธิบาย มันเป็นตัวอย่างของการอธิบายความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย เพราะแค่ที่เดียวเรายังพบว่ามันมีความซับซ้อน มันมีอดีต มีคนเข้ามาใหม่ คนอยู่ต่อ คนเข้ามาใหม่อีก คนเข้ามาใหม่เรื่อย ๆ
“ดังนั้นการทำงานจึงไม่ใช่แค่หลุมฝังศพ แต่หลุมฝังศพเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะยืนยันเรื่องคน มันเป็นพยานวัตถุที่จะบอกว่าคนที่อยู่ตรงนี้มีลักษณะเป็นยังไง วัฒนธรรมเขาเป็นยังไง แล้วใช้เป็นตัวตั้งสำหรับการเปรียบเทียบกับข้อมูลปัจจุบัน”
คนไท(ย)มาจากไหน
“หนูเป็นเด็กรุ่นที่หนังสือวิชาสังคมฯ บอกว่าทฤษฎีเรื่องคนไทยมาจากไหนมีสามทฤษฎีค่ะ” เราบอกอาจารย์รัศมี
สมัยก่อนเราคงจำกันได้ ในห้องเรียนวิชาสังคมศึกษา หลายคนคงจะเคยท่องว่าทฤษฎีเรื่องคนไทยมาจากไหนมีสามทฤษฎี คือมาจากเทือกเขาอัลไต มาจากจีนตอนใต้ และไม่ได้มาจากที่ไหนเลย (ถึงตรงนี้หลายท่านคงจะเดาอายุผู้สัมภาษณ์ออกแล้ว) แต่แน่นอนว่าหลายปีผ่านไป องค์ความรู้ก็ย่อมมีเพิ่มขึ้นไปตามเวลา แล้วสรุปว่าคนไทยมาจากไหนกันแน่
“จริง ๆ แล้วคนไทยในปัจจุบันคือคนที่มาจากการผสมผสานจากหลากหลายชาติพันธุ์” รัศมีบอก “แล้วหลากหลายขาติพันธุ์ในประเทศไทย ถ้าเป็นกลุ่มดั้งเดิมก็คือกลุ่มที่พูดภาษามอญ-เขมร นักโบราณคดีหลายคนเชื่อว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มดั้งเดิม แต่กลุ่มคนที่พูดภาษาไทยอย่างที่เราพูด ภาษาไท-กะได ซึ่งมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ ๆ ที่พูดอยู่ในปัจจุบันคือกลุ่มคนไทยกับคนลาว พวกนี้เขาก็สันนิษฐานกันว่ามาจากจีนตอนใต้ ซึ่งงานวิจัยของเราก็สนับสนุน เพราะว่าอย่างดีเอ็นเอที่ได้มา มันก็มีหลักฐานที่บ่งบอกว่ามีพันธุกรรมใกล้ชิดกับจีนตอนใต้
“แต่นี่เฉพาะที่ปางมะผ้า มันยังมีหลักฐานทางโบราณคดีจากแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ เช่นบ้านเชียง อย่างแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงก็มีความใกล้ชิดกับประชากรที่อยู่ในประเทศลาว แล้วก็มีอีกหลายแหล่งโบราณคดี ซึ่งมันก็จำเป็นจะต้องใช้การตรวจสอบด้วยวิธีวิทยาศาสตร์จริง ๆ ร่วมกับการเปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดี แต่ว่าจากกรณีของปางมะผ้า มันก็พอจะเห็นเค้าลางว่ามันมีคนที่พูดภาษาไทมาจากจีนตอนใต้”
เรานึกถึงใบหน้าของผู้หญิงที่สร้างจากหัวกะโหลกอายุหนึ่งหมื่นสามพันปีที่เห็นเมื่อสักครู่ อดนึกสงสัยไม่ได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของพวกเราหรือเปล่า และคนที่ปางมะผ้าในยุคก่อนประวัติศาสตร์คือคนไทยหรือเปล่า คำตอบของรัศมีคือทั้งใช่และไม่ใช่ ใช่ในมิติด้านความเป็นรัฐชาติ และไม่ใช่ในมิติทางด้านความเป็นชาติพันธุ์
“ถ้าพูดถึงดินแดนประเทศไทยโดยที่เราลากแผนที่ แล้วหลักฐานอันนี้พบในประเทศไทย เราอาจจะบอกว่าเป็นบรรพบุรุษของคนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย อันนี้พูดได้” รัศมีอธิบาย “แต่ถ้าถามว่าในทางพันธุกรรมแล้ว เป็นบรรพบุรุษของคนไทยที่มีพันธุกรรมแบบเดียวกัน เป็นกลุ่มชาติพันธ์ไท ไอ้หมื่นสามพันปีน่ะ เราไม่รู้ เพราะเราไม่สามารถตรวจสอบจากดีเอ็นเอได้ แต่ว่าอายุประมาณสักพันห้า เราพบว่าดีเอ็นเอจากถ้ำโลงลงรัก มันมีดีเอ็นเอของคนที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ซึ่งถ้าเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบันก็ได้แก่ลั้ว คนมอญในประเทศไทย คนเขมรในประเทศไทย ส่วนอีกกลุ่มที่เราพบ ที่ได้ผลดีเอ็นเอคือกลุ่มที่พูดภาษาไดหรือไท ซึ่งไทนี่ก็มีเยอะมาก มีไทเขิน ไทลื้อ ฉานอย่างนี้ เยอะไปหมดเลย เราไม่รู้ว่าไทกลุ่มไหน แต่ว่าถ้าพูดถึงไทยเนี่ยเราไม่รู้
“เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ยืนยันในเรื่องของความเป็นชาติพันธ์เนี่ยพูดยาก แต่ว่าเราพบหลักฐานประมาณพันห้าร้อยปีที่เป็นไท ระบุไม่ได้ว่าเป็นอะไร มันใช่และไม่ใช่ นึกออกไหม ใช่จากอันแรกก็คือใครก็แล้วแต่ อะไรก็แล้วแต่ที่พบในดินแดนประเทศไทย อันนี้เป็นบรรพบุรุษของคนไทย ถ้าเรานิยามว่าคนไทยปัจจุบันคือคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ อันนี้คือนิยามจากความเป็นรัฐชาติ
“แต่ถ้าสมมติว่าเราบอกว่าเป็นบรรพบุรุษของคนไทย ชัด ๆ จากผลดีเอ็นเอ มันก็พูดยากว่าใช่หรือไม่ใช่เพราะว่าดีเอ็นเอที่เราได้ มันคือไทที่ไม่มี ย. ยักษ์ แต่คนที่เป็นตัวอย่างที่เราเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน ไทลื้ออะไรพวกนี้ แต่เราก็ยังระบุชัด ๆ ไม่ได้ว่าตกลงเป็นไทลื้อ ไทเขิน หรือไทดำ แต่พูดกว้าง ๆ ได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้”
พูดถึง “ไท” ที่ไม่ไม่ ย. ยักษ์กันไปแล้ว แล้ว “ไทย” ที่มี ย. ยักษ์ล่ะ?
“ชาติไทยที่เขาพูดกันมันเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ความเป็นชาติ รักชาติมันเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5” รัศมีกล่าว “แต่ว่าความเป็นผู้คนที่มีพันธุกรรมอย่างที่เราพบเจอจากดีเอ็นเอ มันก็น่าจะมีปรากฎอยู่นานแล้ว แต่มันไม่ได้ถูกระบุว่าคืออะไร
“ปัจจุบันนี้ ที่เรามาพูดกันตอนนี้ เราพูดโดยคำนิยามของรัฐชาติสมัยใหม่ จริง ๆ ความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่มันเกิดในสมัยอาณานิคมที่อังกฤษพยายามจะแบ่งแยกกลุ่มชาติพันธุ์ออกเป็นหลากหลาย แล้วก็ดึงคอนเซ็ปต์ของกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ ๆ ให้เป็นตัวแทนของความเป็นชาตินั้น เช่นพม่าก็คือพวกพม่าก็เป็นหลัก ขณะที่เบียดขับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เวียดในเวียดนามก็จะมีกลุ่มชาติพันธุ์เล็ก ๆ ด้วย แต่เขาใช้คนเวียดเป็นตัวแทนของเวียดนาม ไทยเองก็กลุ่มชาติพันธุ์ไทเป็นหลัก ขณะที่มันมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อยู่ด้วย ให้เป็นตัวแทนของความเป็นชาติ
“เพราะฉะนั้นเวลาที่คนพยายามสืบหาว่าคนไทยมีที่มามาจากไหน จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เพราะถ้าถามคนไทยในปัจจุบัน เราก็มาจากทุกที่เลย มีการผสมผสานหลายระลอก ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำที่คนมีการติดต่อกันอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเราทั้งหมด มาเรื่อย ๆ สมัยประวัติศาสตร์ก็มีคนจากตะวันออกกลาง จากแถวเมดิเตอร์เรเนียน มีการค้ากับโรมัน มีจากจีน จากเวียดนาม เข้ามาอยู่ในดินแดนมาค้าขาย ในที่สุดก็หล่อหลอมกลายเป็นคนไทย”
จากงานวิจัยสู่ชุมชน
แน่นอนว่าทำงานกับสถานที่ที่เป็นหลุมฝังศพ รัศมีและสมาชิกทีมวิจัยย่อมต้องทำงานกับความเชื่อของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ด้วย โดยรัศมีบอกว่าถึงแม้ว่าปัจจุบันพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ปางมะผ้าจะไม่ได้ทำพิธีฝังศพแบบวัฒนธรรมโลงไม้แล้ว แต่เขาก็รู้ว่าถ้ำไหนมีโลงไม้อยู่ ซึ่งถ้ำเหล่านั้นก็จะถูกเรียกว่าถ้ำผีแมน
“ผีแมนคือผีที่โผล่ขึ้นมา ตัวยาว ๆ ที่เขาคิดว่าคล้าย ๆ เปรต อันนี้ก็จะเป็นความเชื่อของคนไทใหญ่และพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่แถวนั้น” รัศมีเล่า “เขาก็ไม่เคยเห็นนะคะ เขารู้แต่ว่าถ้าถ้ำไหนมีโลงไม้อยู่ เขาก็จะเรียกว่าถ้ำผีแมน เพราะว่าโลงไม้มันยาวเกินกว่าตัวคน บางทีก็จะยาวสองเมตร ห้าเมตร เจ็ดเมตร สิบเมตร ซึ่งมันยาวมาก เขาถึงได้คิดว่าโห ตัวจริงมันน่าจะใหญ่ คนตายไม่น่าจะตัวเท่าเรา น่าจะตัวเบ้อเร่อเลย”
รัศมีบอกว่าในช่วงแรก ๆ คนในชุมชนไม่ค่อยอยากให้ทีมวิจัยเข้าไปขุดค้นเท่าใดนัก เนื่องจากความเชื่อว่าการขุดค้นจะไปรบกวนผีที่อยู่ในถ้ำและนำมาซึ่งเหตุการณ์ไม่ดี เช่นจะทำให้คนในชุมชนเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต
“ตอนแรกเราไม่ได้ขุดนะคะ เพราะเขากลัวว่าเราจะทำให้ผีโกรธ แล้วผีก็อาจจะทำให้คนในชุมชนไม่สบาย ทำให้คนในชุมชนตาย” รัศมีเล่า “เขาเคยถามว่าเรารับรองได้ไหมว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในชุมชน เราก็บอกว่าเรารับรองไม่ได้ เพราะว่าหลาย ๆ เคสเรารู้ว่าการตายที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นเพราะว่าเขาเป็นโรคอยู่แล้ว หรือบางครั้งก็คืออายุมากแล้วอะไรแบบนี้ แต่ความเชื่ออันนี้มันถูกผสมผสานกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น แล้วเราก็ถูกตั้งคำถาม เราก็บอกว่าเราไม่ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น แต่ว่าความรู้ที่เราได้มา มันก็จะเป็นประโยชน์และทำให้ชุมชนภูมิใจว่าเรามีมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ตรงนี้ที่คนอื่นเขาไม่มี แล้วเราก็สามารถจะเป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายได้ว่าคนในดินแดนประเทศไทยที่อยู่ตรงนี้มีลักษณะวัฒนธรรมแบบไหน เขามีชีวิตอยู่แบบไหน แล้วเปรียบเทียบกับพวกเราได้ แต่เราต้องทำกระบวนการที่เราปฏิสัมพันธ์กับชุมชนอยู่ตลอดเวลา
“เวลาทำงาน ทุกครั้งเราจะต้องเข้าไปพบกับชุมชนก่อน ไปแนะนำตัวว่าเราเป็นใคร เราจะขอเข้าไปประชุมชาวบ้าน แล้วก็แนะนำ คุยว่าเราทำอะไร เราสนใจเรื่องอะไร ต้องการที่จะศึกษาเรื่องอะไร แล้วความรู้ของเราจะทำให้เราเข้าใจอะไรเกี่ยวกับพื้นที่ตรงนี้ แล้วอนาคต ส่วนหนึ่งที่พี่น้องชาติพันธุ์หรือชุมชนที่อยู่ตรงนั้นเขาก็จะมองด้วยว่าแล้วเมื่อเราทำงานเสร็จ มันจะมีประโยชน์ต่อเขายังไงในเชิงเศรษฐกิจ เขานึกถึงเรื่องการท่องเที่ยว เขาก็จะมองแบบนี้ แต่หลายคนเขาก็จะถาม เขาอยากรู้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นใคร พอเราอยู่ในพื้นที่นาน ๆ มันก็เกิดการปฏิสัมพันธ์ คนเขาก็จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราค้นพบมากขึ้น แล้วเขาก็อยากรู้
เวทีทำความเข้าใจเรื่องการขุดค้นกับชุมชนในพื้นที่ (ภาพจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
“หกเดือนที หรือปีนึง เราค้นพบ มีอะไรเพิ่มเติมเราก็จะเล่าให้เขาฟัง เข้าประชุมหมู่บ้าน แต่ถ้าเราไม่ประชุมหมู่บ้าน ปกติเราก็จะมีนักวิจัยที่ทำงานกับชุมชน ปกติเขาก็จะไปคุยกับชุมชนอะไรแบบนี้ แล้วก็สื่อสารให้รู้อยู่แล้วเบื้องต้น คุยกับโรงเรียน คุยกับกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน แต่ว่าโดยปกติแล้วนักวิจัยชุดนี้ก็จะทำงานด้านนี้ แต่พอเราทำเสร็จปีหนึ่งเราก็จะไปคุยให้เขาฟังว่านี่ไง เราเจออันนี้ เราได้ทำอันนี้ เรารู้อันนี้มากขึ้น เรารู้ดีเอ็นเอ อะไรแบบนี้ แล้วพอเราเสร็จโครงการเราก็กลับไปอีกครั้งนึง แล้วเราก็พยายามทำในที่ต่าง ๆ เช่นคุยกับคนในจังหวัดด้วย ไม่ใช่เฉพาะในปางมะผ้า เราก็ไปคุยกับคนในจังหวัด หลังจากนั้นเราก็ไปคุยกับส่วนราชการเพื่อให้เขารู้ว่าตรงนี้มีความสำคัญยังไง จะอนุรักษ์มันยังไง เพราะว่าเราต้องการให้อนาคตมันเกิดการรักษาแหล่งโบราณคดีด้วย ก็ต้องทำกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย แต่โดยพื้นฐาน เราก็อยากจะให้ฐานมันเกิดจากชุมชนที่อยู่ตรงนั้นก่อน เพราะตรงนั้นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เขาอยู่ใกล้กับแหล่งโบราณคดีมากที่สุด มันง่ายมากที่ส่วนงานราชการที่รับผิดชอบจะเข้ามา เขาก็มาดำเนินการได้เลย แต่ถ้าเราทำเริ่มต้นจากการที่เราให้ชุมชนมีส่วนร่วมและรับรู้กับเราตั้งแต่แรก เขาก็จะสร้างพลังในการอนุรักษ์พวกนี้เอง”
อย่างไรก็ตาม รัศมีก็บอกว่าคนในชุมชนเองก็แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกฝ่ายต้องการปิดและอนุรักษ์ไว้ให้ถึงลูกหลาน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งรัศมีบอกว่า “ดีใจมาก” ที่มีการคิดในแง่ของการรักษาไว้ให้เป็นสมบัติของท้องถิ่น แต่ถึงอย่างนั้น พอลองนึกภาพว่าแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ ไม่อยู่บนเพิงผาสูงอย่างที่เพิงผาถ้ำลอด ก็เป็นถ้ำที่ลงไปลึกอย่างถ้ำโลงลงรัก ก็ชวนให้สงสัยว่าถ้าเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็คงจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผจญภัยมากทีเดียว
“ถามว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว มันก็ค่อนข้างจะลำบากเหมือนกันเพราะว่ามันเดินไกล” รัศมีพูดถึงความเป็นไปได้ในการเปิดถ้ำโลงลงรักเป็นแหล่งท่องเที่ยว “แล้วก็คนที่จะทำ กลุ่มของเขาเองยังไม่ชัดเจนเลย กลุ่มของคนในชุมชนที่จะจัดการ เพราะมันมีอีกถ้ำหนึ่งที่ง่าย เข้าง่าย ถ้ามาจัดการตรงนี้มันก็น่าจะลำบาก ซึ่งมันโอเคสำหรับเรา
“ถ้าสมมติว่าไม่ได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็โอเค แต่ถ้าเรามองในระยะไกล ถ้าอยากจะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับฝรั่งหรือคนที่ชอบการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย อันนี้โอเค แต่ถ้าว่าจะทำเป็น mass tourism ไม่น่าจะได้ เพราะมันเข้าลำบากแล้วมันต้องจำกัดคน ถ้าคนไปวันละเป็นพันก็ไม่เวิร์ค ถ้ำมันต้องถูกทำลายแน่ ๆ มันควรจะเป็นถ้ำที่คนไปน้อยแต่ว่าใช้เวลากับพื้นที่ ได้รู้สึกว่าตื่นตาตื่นใจ รู้สึกว่าเราโชคดีที่มีของแบบนี้ในประเทศหรือว่าฝรั่งมา เห็นแล้วรู้สึกว่าประเทศไทยมีของแบบนี้“
“ถ้าเป็นแมสหลักเนี่ยน่าจะเป็น virtual reality ทำลงในแบบดิจิตัลแล้วให้คนดู อันนั้นโอเค แล้วให้ความรู้ในแบบที่มันจะกว้างไกลไปอีก มันมากกว่าพรมแดนของประเทศไทย มันก็คือจะไปให้ความรู้กับที่อื่น ๆ ได้ ความรู้มันก็กลายเป็นความรู้สากลที่มันแบ่งปันกันได้
“คิดว่าพอทำงานวิจัยเสร็จก็คิดว่าอันนี้มันก็น่าจะต้องทำ มันก็มีการทำงานโดยนักศึกษาปริญญาโทก่อน ที่เขาจะลองทำ ถ้าสมมติว่าเล็ก ๆ มันประสบความสำเร็จ เราก็อาจจะคุยกับคนให้เขาทำต่อ เพราะว่าความรู้ด้านนี้มันไม่ค่อยมีคนทำเยอะ ก็คิดว่าอยากจะทำอะไรแบบนี้ที่เผยแพร่ให้มากขึ้น“
เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน
“บางคน คนทั่วไปเขาก็จะถามว่าเจอผีบ้างหรือเปล่า หรือบางครั้งเขาก็ถามเราว่าดูพระเป็นมั้ย แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นหรือเด็กรุ่นใหม่ เขาจะดูสารคดีเยอะ เขาก็จะเห็นอีกภาพหนึ่ง ภาพแบบว่านักโบราณคดีต้องผจญภัย สืบค้นเรื่องอะไรที่มันลึกลับ” รัศมีบอกเมื่อเราถามถึงภาพลักษณ์ของนักโบราณคดีในสายตาของคนอื่น
รัศมี ชูทรงเดช
ถึงสภาพงานจะเหมือนนักสืบข้ามกาลเวลา แต่จริง ๆ แล้วนักโบราณคดีก็อาจจะไม่ได้ต้องผจญภัยขนาดพระเอกหนังเรื่องอินเดียน่าโจนส์ ถึงบางครั้งจะต้องมีการปีนป่ายบ้าง (ทราบมาว่าช่วงแรกที่ขุดค้นที่ถ้ำผีแมนโลงลงรัก ก่อนจะมีการทำบันไดสำหรับลงไปในถ้ำ สมาชิกทีมขุดค้นก็ต้องมีการโรยตัวลงไปในถ้ำ) และที่แน่ ๆ นักโบราณคดีไม่ได้ทำงานคนเดียว
“อย่างงานที่ทำก็จะทำแบบสหวิทยาการ ก็คือว่าเราทำงานแล้วมีนักวิชาการสาขาอื่น ๆ เข้ามาร่วมทีม เพราะว่าเวลาที่เราทำงาน สมมติว่าเราได้โครงกระดูกคน เราก็มีนักมานุษยวิทยากายภาคที่เขาศึกษาเรื่องกระดูก เขาก็มาดูก่อนว่าอันนี้เพศหญิงเพศชาย อายุเท่าไหร่ อายุเหล่านี้พอดูจากกระดูก เป็นโรคอะไรไหม เขาตายเพราะอะไร ลักษณะร่างกายเขาเป็นยังไง ลักษณะโครงสร้างทางภายภาพของเขาพอจะบอกได้ไหมว่าเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือเป็นคนจากที่อื่น
“เรามีนักพันธุศาสตร์มานุษยวิทยา ซึ่งวิเคราะห์ดีเอ็นเอ ก็จะเอาดีเอ็นเอจากกระดูกคนไปวิเคราะห์แล้วบอกเราได้ว่าคนนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบันเป็นกลุ่มไหน แล้วถ้าสมมติว่าบอกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน แปลว่าดีเอ็นเอเหล่านี้มันมีการสืบทอดถึงประชากรปัจจุบัน เราเอาเครื่องมือโลหะไปวิเคราะห์ มันก็สามารถบอกส่วนผสมได้ว่าอันนี้มันบอกเทคนิคเราได้ว่าเทคนิคการผลิตเป็นยังไงแล้วเทคนิคที่ผลิตแบบนี้มันเป็นภูมิปัญญาที่อยู่ตรงนี้หรือเอามาจากจีนหรือจากอินเดียหรือมาจากที่อื่น ๆ เราเอาลูกปัดมาทำแบบเดียวกันคือแยกของที่เป็นส่วนประกอบของแก้ว มันก็จะบอกเราได้ว่ามันมีแหล่งผลิตจากที่นี่หรือเปล่า หรือว่าจากที่อื่น เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นพยานวัตถุที่ยืนยันว่ามีการติดต่อระหว่างผู้คนจากเมดิเตอร์เรเนียนมาสู่ตรงนี้หรือมาจากเวียดนามซึ่งมีการติดต่อกับเรา สิ่งของเหล่านี้จะเป็นตัวที่บอกเรื่องได้
“นักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือคนที่ช่วยเรา แล้วนักโบราณคดีก็เอาข้อมูลเหล่านี้มาตีความ แล้วนักโบราณคดีเองก็ศึกษาสิ่งของ ดูรูปแบบ เพราะว่าลักษณะของวัฒนธรรม มันจะมีลักษณะเฉพาะ ทั้งในรูปแบบเครื่องมือเครื่องใช้ ข้าวของ มันจะเป็นตัวที่บอกว่าลักษณะวัฒนธรรมแบบนี้ เขาจะประกอบด้วยของแบบนี้ เหมือนกับเวลาเราเห็นบ้านคนไทย เราจะรู้เลยว่านี่ไทย พอเห็นฟิลิปปินส์หรือว่าเห็นในหมู่เกาะหรือตะวันออกกลาง ลักษณะของบ้าน ส่วนประกอบของบ้าน ของใช้ในบ้านมันก็จะต่างกัน หรือในเรื่องของส่วนประกอบที่อยู่ในวัดที่มันต่างกัน ตัวโบราณวัตถุก็จะเป็นสิ่งที่บอกเรา แล้วเราก็ทำงานร่วมกับสาขาอื่น ๆ เพื่อให้เราสามารถตีความและอธิบายเรื่องราวในอดีตได้”
รัศมีบอกว่าการศึกษาทางโบราณคดีทำให้เรารู้ที่มาของหลายสิ่งหลายอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ระบบความเชื่อไปจนถึงปฏิทินและอะไรอีกหลายอย่าง การขุดค้นอดีตอันไกลโพ้นจึงไม่เพียงแต่จะทำให้เรารู้จักอดีตเท่านั้น แต่ยังทำให้เราเข้าใจปัจจุบันมากขึ้นด้วย
“ถ้าถามว่าการศึกษาอดีตมันมีอะไรที่จะทำให้กับสังคมในปัจจุบันได้มั้ย มันก็บอกเราว่าลักษณะการทำสุสานแบบนี้จริง ๆ มันก็เห็นความต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ของเราการปรับเปลี่ยนมันก็จะเป็นเจดีย์ของครอบครัว การใส่กระดูกในพวกผอบหรือในโกฐ มันคือการฝังศพครั้งที่สอง คือมันเผาแล้ว พอเผาเสร็จ เลือกชิ้นส่วนใส่ในภาชนะเสร็จแล้วก็ใส่ในเจดีย์ มันก็เหมือนกับการไว้ในโลง ก็คือการเลือกชิ้นส่วนที่เป็นตัวแทนของคนแต่ละคนแล้วก็ไว้ในโลงด้วยกัน เพราะฉะนั้นครอบครัวนึงก็จะเป็นหนึ่งโลง แล้วทั้งหมดมันก็เหมือนสุสานชุมชน สุสานที่เป็นโคตรตระกูลเดียวกัน มันก็เหมือนกับลัทธิที่มีการบูชาบรรพบุรุษ ที่มีการทำศพแล้วก็มีการเซ่นไหว้อะไรแบบนี้ มันก็น่าจะมีกิจกรรมคล้าย ๆ แบบนั้น
“ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของเก่าหรือการค้นพบอะไร มันก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ ถ้าเรามองในภาพใหญ่ คือตอบคำถามให้มนุษยชาติเลย” รัศมีกล่าว “อย่างคนมาจากไหน กำเนิดของคนอยู่ในแอฟริกา มันทำให้เรารู้เกี่ยวกับเรื่องของที่มาและตัวตนของเรา เครื่องมือชุดแรกของมนุษย์คืออะไร อย่างเช่นเครื่องมือหิน มันก็ทำให้เรารู้ว่าคนก่อนที่จะทำเครื่องมือเป็นเทคโนโลยีที่เราเห็น ซับซ้อนในปัจจุบัน เขาทำอะไรที่มันง่าย ๆ อย่างนี้นะ เขาทำเครื่องมือหิน แล้วพบที่ไหนบ้างในโลก ที่เก่าที่สุดในแอฟริกา แล้วในประเทศไทยเราก็เจอเหมือนกัน แสดงว่าประเทศไทยก็มีมนุษย์ที่มีภูมิปัญญาใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบนี้ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ แล้วมันพัฒนามายังไง
“มันก็ทำให้เรามองเห็นว่ามนุษย์มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีหรือความเชื่อจากนับถือผีกลายเป็นนับถือศาสนา เวลาที่เราติดต่อกับผู้คน การเจอข้าวของในแต่ละที่ในประเทศไทยมันก็จะบอกเราว่าตรงนั้นมันมีที่มาเกี่ยวกับพื้นที่ยังไงบ้าง น้ำทะเลที่มันมีการเปลี่ยนแปลง แผ่นดินเปลี่ยน ภูมิประเทศเปลี่ยน นักโบราณคดีก็จะศึกษาตรงนี้ ก็ทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับตัวเรา พื้นที่ สิ่งของ ที่บางอันต่อมามันก็สืบทอดมาถึงปัจจุบัน”
https://prachatai.com/journal/2020/01/86060
More from Gotoknow
The Challenge of Archaeological Interpretation and Practice that Integrates between the Science of the Past and Local Knowledge
Contemporary archaeologists can no longer focus only on scientific research, they must also work with different interest groups whose use …
รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช การศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ตอนที่ 1/3
การศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยและพัฒนาการโดยสังเขป วีดีโอนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนวัตกรรมเพื่อการศึกษาเรื่อง "โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสต์ในประเทศไทย" โครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร https://youtu.be/9_MsvnxH6So #archaeology #facultyofarchaeology #silpakorn #silpakornuniversity #prehistory #prehistoryinthailand #thailand #thailandachaeology #โบราณคดี #ภาควิชาโบราณคดี #คณะโบราณคดี #ศิลปากร #มหาวิทยาลัยศิลปากร #ก่อนประวัติศาสตร์ #กึ่งก่อนประวัติศาสตร์ …
New Neolithic site in Central Thailand
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีจากสถาบันต่างๆ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อสำรวจ อาทิ รศ.ดร. รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร , ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ฉันทัส เพียรธรรม อาจารย์สาขาวิชาพัฒนาสังคมเมือง …